ซิ่นตีนจก ลับแล : ถักทอมรดกทางวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น

ซิ่นตีนจก ลับแล : ถักทอมรดกทางวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น

การทอผ้าซิ่นตีนจกของชาวลับแล เล่ากันว่า สืบทอดมาตั้งแต่สมัย ‘เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร’ โดยมเหสีของเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารซึ่งมีความสามารถด้านการเย็บปักถักร้อยและการทอผ้าจก ได้สอนวีธีการทอผ้าจกให้แก่หญิงสาวในหมู่บ้าน อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่า การทอผ้าซิ่นตีนจก เป็นการสืบทอดทางวัฒนธรรมของชาว ไท-ยวน (เชียงแสน) ที่มีภูมิปัญญาด้านการทอผ้าซิ่นตีนจกที่สวยงาม

ในอดีตยังกล่าวกันว่า หญิงสาวชาวลับแลต้องทอผ้าให้ได้อย่างน้อยคนละ 1 ผืน สำหรับใช้ในพิธีแต่งงานของตนเอง หรือ ไว้ใส่ในงานบุญใหญ่ๆ ผู้ที่จะทอผ้าจกได้ ต้องมีความอดทนและมีสมาธิอย่างสูง เพราะการทอผ้าจกเป็นงานฝีมือที่มีความละเอียดอ่อนมาก ถือว่าการทอผ้าจกนี้ เป็นวิถีชีวิต ความเชื่อ เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมของชาวลับแล โดยในกรรมวิธีการผลิต การทอแบบจก เป็นการทอแบบดั้งเดิม เป็นการทอแบบเก็บลวดลาย จกด้วยขนเม่นหรือเหล็กแหลม ซึ่งลวดลายบนผืนผ้านั้น ส่วนใหญ่จะประดิษฐ์มาจากสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็น พืช หรือ อากัปกิริยาต่างๆของสัตว์ เป็นความงามที่เกิดจากความเรียบง่าย ลวดลายแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ลายหลัก และ ลายประกอบ

ลายหลัก คือ ลวดลายขนาดใหญ่และเด่นกว่าลายประกอบ อยู่ตรงกลาง การเรียกชื่อผ้าซิ่นตีนจกจะเรียกตามลายหลัก เช่น หงส์ใหญ่ แปดขอ เก็ดถวา เป็นต้น

ลายประกอบ คือ ลาวลายที่ทอเพิ่มเสริมประกอบลายหลักทั้งด้านบนและด้านล่าง ให้มีความงามและสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น เช่น ขอเค็ดเก้า นกขี่ม้า นกคุ้ม นาค เป็นต้น

นอกจากความงาม ลวดลายของผ้ายังแฝงด้วยคติความเชื่อ เช่น ลายนกคุ้ม คือ การอยู่คุ้มเหย้าคุ้มเรือน คุ้มผัวคุ้มเมีย บังเกิดสิริมงคลในชีวิตคู่อีกด้วย

(ข้อมูลจาก หนังสือตำนานผลิตภัณฑ์ไทย จากภูมิปัญญาไทย ปี พ.ศ.2547)

Posted on