ตำนานเมืองลับแล

ตำนานเมืองลับแล

เมืองลับแลมีตำนานเก่าแก่ที่เล่าสืบต่อกันมา 2 ทางคือ ตำนานพื้นบ้าน เล่ากันว่า เมืองลับแลเป็นเมืองแม่หม้าย เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่ลี้ลับซับซ้อน พลเมืองมีแต่ผู้หญิง ปกครองยึดมั่นแต่ความดี มีศีลธรรมและรักษาวาจาสัตย์ ต่อมามีชายเมืองทุ่งยั้งคนหนึ่งเดินทางเข้าไปในป่าเมืองลับแล แล้วพบกับสาวเมืองลับแล ทั้งสองเกิดความรักต่อกัน สาวจึงรับหนุ่มไปอยู่บ้านตนและอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยา โดยสาวให้ชายสัญญาว่าจะไม่พูดเท็จ

ภายหลังสองสามีภรรยาอยู่ด้วยกันจนมีบุตรหนึ่งคน วันหนึ่งขณะที่ภรรยาออกไปเก็บผักหักฝืน บุตรเกิดหิวนมจึงร้องไห้ไม่หยุด บิดาปลอบให้บุตรหยุดร้องไห้ได้ โดยโกหกว่ามารดากลับมาแล้ว บุตรจึงหยุดร้องไห้ เมื่อภรรยาทราบว่าสามีกล่าวเท็จต่อบุตร ก็จำเป็นต้องให้สามีออกจากเมืองไป เพราะไม่รักษาวาจาสัตย์ ก่อนออกเดินทางภรรยามอบย่ามพร้อมกำชับไม่ให้เปิดดูระหว่างเดินทาง แต่สามีมิฟังคำภรรยา ได้เปิดย่ามดูระหว่างทางเห็นเป็นขมิ้นจึงทิ้งออกไป ครั้นไปถึงบ้านตนพบว่า ขมิ้นที่เหลือมาเพียงหัวเดียวนั้นเป็นทองคำ

อีกทางหนึ่งเป็น ตำนานทางพุทธศาสนา ซึ่งเล่าว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ที่หมู่บ้าน ซึ่งต่อมาชื่อ ‘เมืองทุ่งยั้ง’ นั้น พระองค์ได้ประทับนั่งบำเพ็ญภาวนาที่พระแท่น ศิลาอาสน์ ทรงประทับยืนแล้วเดินจงกลมที่วัดพระยืนพุทธบาทยุคล ได้ทอดพระเนตรไปทางทิศเหนือทรงเห็นหนองน้ำกว้างใหญ่ ต่อมาเรียกว่า ‘หนองพระแล’ จากนั้นพระองค์ได้ทอดพระเนตรไปยังที่ตั้งของเมืองลับแล แต่ปรากฏว่ามีต้นไม้บังมากมายดังกับเป็นที่ลี้ลับ ดินแดนนี้จึงมีชื่อเรียกต่อมาว่า ‘เมืองลับแล’

บ้างก็ว่าชื่อ ‘ลับแล’ มีที่มาจากสภาพภูมิประเทศแถบนั้นเต็มไปด้วยป่ารกทึบ มีภูเขาและเนินสูงๆ ต่ำๆสลับอยู่โดยรอบ คล้ายอยู่ในหุบเขาจึงยากแก่การเดินทางเข้า-ออก อีกทั้งมีลำธารไหลผ่าน จึงมีความอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยพืชพันธุ์ ธัญญาหารและผลไม้นานาชนิด โดยมากผู้ที่ได้อยู่อาศัยแล้ว ไม่อยากจากไปเนื่องจากความพึงพอใจในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังกล่าว

ในอดีตตามบริบทวัฒนธรรมล้านนา จะเรียก ลับแล ว่า ลับแลง มีหลักฐานปรากฏในคร่าวสี่บท ของ พระญาพรหมโวหาร

โดยบริเวณที่ได้ชื่อว่า ลับแลง คือ พื้นที่ตอนเหนือของอำเภอลับแลใน ตำบลชัยจุมพล ตำบลศรีพนมมาศ ตำบลฝายหลวง ตำบลแม่พูล และตำบลนานกก

Posted on